^^ เคล็ดลับการทำสมาธิ ^^
ต้นเหตุสำคัญ ที่จะทำให้สมาธิเกิดเร็วหรือช้าและเมื่อเกิดขึ้นแล้ว จะตั้งมั่นอยู่ได้นานหรือไม่นานนั้นขึ้นอยู่กับองค์ประกอบ 3 ประการ คือ
1. ทำนาน คือ ในแต่ละครั้งที่ทำสมาธิ ควรทำให้นาน ๆ อย่างน้อยต้องครึ่งหรือหนึ่งชั่วโมง ทำ 3 ครั้งต่อวัน
2. ทำบ่อย คือ ในแต่ละครั้งที่ทำสมาธิ ไม่ต้องทำมาก ทำครั้งละสิบหรือสิบห้านาทีก็พอ แต่ทำให้บ่อย ๆ ตามแต่จะสะดวก
3. ทำติดต่อ คือ ในแต่ละวัน อย่าให้จิตขาดสมาธิมากนัก ควรเอาสมาธิมาใช้ในชีวิตประจำวันให้เกิดความเคยชิน การทำสมาธิก็จะเป็นของง่าย
ถ้าในชีวิตประจำวัน เราปล่อยให้จิตขาดสมาธิมาก เมื่อถึงเวลาทำสมาธิจริง กว่าจะรวมจิตให้เกิดสมาธิก็ต้องเสียเวลามาก การทำสมาธิจึงได้ปริมาณแต่ขาดคุณภาพ
ดังนั้น เคล็ดลับในการทำสมาธิ หรือปฏิบัติกิจทุกสิ่ง ถ้าทำให้นาน ทำให้บ่อย และทำให้ติดต่อ ก็ย่อมจะเกิดผลและทักษะ สิ่งที่เคยเห็นว่ายาก ก็จะกลายเป็นง่ายอย่างไม่น่าเชื่อ.ล
สมาธิ จัดว่าเป็น “ยอดบุญ” ที่ชาวพุทธไม่ควรมองข้าม เพราะสมาธิต่ำกว่าปัญญาเพียงขั้นเดียว ถ้านับเรียงว่าศีล สมาธิ และปัญญา แต่ถ้านับแบบชาวบ้าน คือทาน ศีล และภาวนา สมาธิก็รวมอยู่ในข้อภาวนา คือไปรวมอยู่กับปัญญาเสียเลย
แม้ว่าสมาธิจะต่ำกว่าปัญญาก็ตาม แต่สมาธิก็จัดว่าเป็น “พื้นฐานของปัญญา” นั่นคือ ไม่มีสมาธิ ปัญญาก็เกิดไม่ได้ และในทำนองเดียวกัน สมาธิที่ขาดปัญญาก็ไม่สามารถจะดับทุกข์ได้ ดังนั้น ทั้งสมาธิและปัญญาจึงต่างก็ต้องอาศัยซึ่งกันและกัน จึงจะสำเร็จประโยชน์ที่สมบูรณ์ และถึงที่สุด (ดับทุกข์ได้)
ด้วยเหตุผลดังกล่าว ผู้ที่มีโอกาสฝึกสมาธิแล้วก็ไม่ควรจะ “ย่ำเท้า” อยู่กับที่ ควรจะก้าวหน้าต่อไปคือการเจริญวิปัสสนาตามวาสนาและบารมีของตน เพราะการฝึกแต่สมาธิล้วน ๆ นั้น ทำให้จิตใจสงบ และประสบความสุขก็จริงอยู่ แต่ยังเป็นความสุขแบบ “หินทับหญ้า” กล่าวคือ
ตราบใดที่ใจของเรายังมีสมาธิอยู่ ตราบนั้นความทุกข์ก็เล่นงานไม่ได้ แต่ถ้าจิตของเราขาดสมาธิเมื่อไรความทุกข์ก็เล่นงานได้ทันทีเมื่อนั้น
สมาธิ ท่านจึงเปรียบเหมือนหินทับหญ้า ตราบใดที่หินยังทับหญ้าอยู่ หญ้าก็งอกขึ้นไม่ได้ แต่เมื่อยกหินออกเมื่อใด หญ้าก็จะขึ้นเต็มเมื่อนั้น
เพราะโดยปกติคนเรา ไม่อาจจะมีสมาธิมั่นคงอยู่ได้ตลอดเวลา เพียงสมาธิสามัญที่เกิดเอง ไม่สามารถที่จะต้านทานความทุกข์ได้ จะต้องอาศัยสมาธิก้าวขั้นไปสู่การเจริญวิปัสสนา จึงจะสามารถพิชิตความทุกข์ได้สิ้นเชิง
ดังนั้น ความสุขที่เกิดจากสมาธินั้น จึงยังไม่ใช่ความสุขที่แท้จริง มันเป็นเพียงความสุขแบบหินทับหญ้าเท่านั้น ผู้หวังความสุขอันเกษมหรือถาวร จึงไม่ควรประมาท
ดังที่กล่าวแล้วว่า สมาธิเป็นยอดบุญหนึ่งในสาม (คือ ศีล สมาธิ ปัญญา) ก่อนที่จะเลิกการทำสมาธิทุกครั้ง ควรแผ่เมตตา และอุทิศส่วนบุญ ที่เกิดจากการทำสมาธินี้ ไปให้พ่อ แม่ ครู อาจารย์ ผู้มีพระคุณ เจ้ากรรม นายเวร และสรรพสัตว์ทั้งหลาย โดยทั่วไป
ในการอุทิศส่วนบุญนี้ จะทำพร้อมกับการไหว้พระสวดมนต์ก็ได้ ทำเช้าหนเย็นหนก็พอ ส่วนว่าเมื่อทำสมาธิในที่ทำงาน หรือในชีวิตประจำวัน ในรถ ในเรือก็ไม่จำเป็นต้องอุทิศ เอาไว้อุทิศรวมๆ พร้อมกันก่อนนอนก็ได้.
สมาธิ ทำยากจริงหรือ ?
ขอตอบปัญหานี้ก่อนว่า ไม่จริงเลย ทำสมาธิเมื่อไร? ใจก็ย่อมเกิดสมาธิเมื่อนั้น! ต่างกันแต่ว่า สมาธิเกิดอยู่ได้นานหรือไม่นานเท่านั้น เพราะธรรมชาติของจิต โดยปกติทั่วไป ย่อมมีสมาธิเป็นพื้นฐาน มากบ้างน้อยบ้างอยู่แล้ว
เมื่อเราเริ่มลงมือทำสมาธิในขณะใด สมาธิก็ย่อมเกิดขึ้นทันทีในขณะนั้นเอง แต่เพราะเราใจร้อน และมีค่านิยมผิดๆ จึงมักจะไม่สนใจการทำสมาธิ โดยอ้างว่ามีการงานมาก มีเรื่องยุ่งมาก ใจไม่สงบ ทำสมาธิกับเขาไม่ได้หรอก …เป็นต้น
ใจร้อน คือ พอทำสมาธิปุ๊บ ก็จะให้ใจมันหยุดนิ่งปุ๊บทันทีเหมือนวางก้อนหิน เมื่อเล็งผลเลิศอย่างนี้ ก็เลยไม่อยากทำสมาธิ เพราะทำทีไรไม่เห็นสงบสักที นอนสบายกว่า !
ค่านิยมผิดๆ คือ มีความคิดว่าการทำสมาธิต้องไปทำที่วัด ต้องให้พระคุมทำ พระให้กรรมฐาน ต้องทำคนเดียว ทำในที่สงบ ต้องนั่งทำเป็นชั่วโมง ๆ จนถึงการทำสมาธิทำให้บ้าๆ บ๊องๆ เป็นต้น
สิ่งเหล่านี้ เป็นแต่เพียงรูปแบบหนึ่งเท่านั้น เราไม่ชอบ ไม่มีโอกาส ไม่สะดวก ก็ไม่จำเป็นต้องทำแบบนั้นเสมอไป วิธีการต่างๆ ได้แนะนำไว้พร้อมแล้วในหนังสือเล่มนี้ เมื่อท่านอ่านจนจบเล่มแล้ว ความสงสัยปัญหาต่างๆ ดังกล่าว จะหมดสิ้นไป
ก่อนอื่น เราควรจะทราบธรรมชาติของจิตก่อนว่าจิตมีสภาพอย่างไร? ทำไมจิตของเราจึงคิดนึกอะไรวุ่นวาย ไม่มีความสงบเลย? คนอื่นทำมเขาไม่วุ่นวายเหมือนเรา? ทำไม่?? ทำไม ???
จิต มีธรรมชาติ รับ จำ คิด และ รู้ ในอารมณ์และเรื่องราวต่างๆ ทั้งสิ่งที่ดีและไม่ดี นี่คือธรรมชาติของจิตแท้ๆ ไม่ได้เป็นจิตที่ผิดปกติแต่อย่างใด ตรงข้ามคนที่ไม่คิดเสียอีก อาจจะผิดปกติ คนที่ไม่คิดเลยก็มีอยู่พวกเดียว คือคนที่ตายแล้วเท่านั้น !
การที่เราทำสมาธินั้น มิได้หมายความว่าจะบังคับมิให้จิตมันไม่นึกไม่คิด ก็หามิได้ แต่การทำสมาธินั้นเราเพียงแต่ตั้งใจประคับประคอง ให้จิตมันนึกคิดอยู่ในสิ่งเดียว ที่เราต้องการเท่านั้น แต่ที่มันอยู่กับสิ่งนั้นๆ ไม่นาน ก็เพราะมันไม่เคยชิน ถ้าทำบ่อยๆ ทำให้นานๆ หน่อย มันจะเคยชินไปเอง และมันก็จะชอบเสียด้วย
ถ้าเราเลี้ยงหมาไว้ตัวหนึ่ง เลี้ยงมาจนโตแต่ไม่เคยล่ามโซ่เลย วันแรกที่เราล่ามโซ่ มันจะดึงและร้องลั่นจนเราทนแทบไม่ไหว หูจะแตก แต่ถ้าเราทนหนาวหูไปสัก 2-3 วัน มันก็จะหมดฤทธิ์กไม่ดึงไม่ร้อง จะนอนหมอบอยู่กับหลักนั่งเอง ฉันใด จิตใจของคนเราที่ไม่เคยฝึกหัดอบรมมาก่อน ก็มีอุปมา ฉันนั้น
ตอนทำสมาธิแรก ๆ ต้องใช้ความพยายาม ต้องทนต้องฝืนไปไม่นานนัก มันก็จะหยุดดิ้น เพราะขืนดิ้นต่อไป ก็รังแต่จะเจ็บตัวเสียเปล่า เลยนอนอยู่กับหลัก (อารมณ์ของสมาธิ) แสนจะอุตุกว่า
ความหลงผิดอีกประการหนึ่งที่ว่า ทำสมาธิแล้วจะเป็นคนเฉื่อยชา อืดอาด หากินไม่ทันเขา ข้อนี้ก็ไม่จริง เป็นเพราะสันดานของแต่ละคน ถ้าคนมันจะอืดอาดแล้ว ไม่ทำสมาธิ มันก็ต้องอืดอาดอยู่เอง
ที่ว่ามีการงานมาก ไม่มีเวลาทำสมาธินั้น ก็เป็นความเข้าใจผิด คิดว่าการทำสมาธิจะต้องนั่งหลับตาเสมอไป และเอามาใช้กับงาน ใช้กับชีวิตประจำวันไม่ได้ ข้อนี้ไม่ขออธิบาย เพราะเมื่ออ่านหนังสือเล่มนี้จบแล้ว ก็ย่อมจะถึงบางอ้อเอง
เพียงแต่จะขอสรุปตอนท้ายว่า
คนที่มีจิตใจวุ่นวาย ไม่สงบ มีการงานมาก มีภาระรับผิดชอบมาก นั่นแหละยิ่งจำเป็นที่จะต้องทำสมาธิให้มากๆ และต้องทำให้มากกว่าคนธรรมดา หรือแม้พระสงฆ์เสียด้วยซ้ำไป มิฉะนั้นมันจะเป็นโรคประสาท เสียการงาน เสียอนาคต และเสียคนไปชั่วชีวิต หรืออาจจะต้องสิ้นชีวิต โดยที่ไม่จำเป็นจะต้องสิ้น
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น