ภาพแต่งละฉาก

วันพุธที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

เคล็ดลับการทำข้อสอบให้ฉลุย

   เทคนิคการทำข้อสอบให้ฉลุย
คะแนน 15 – 20 เปอร์เซ็นต์ ที่ผู้เรียนทำได้เกิดจากสิ่งที่เราเรียนรู้ ส่วนคะแนนที่เหลือ มักมาจากความคล่องแคล่วเชี่ยวชาญในการทำข้อสอบ
    ผลจากการทดลองมากมายพบว่า การเรียนรู้ถึงกลไกของข้อสอบและวิธีทำข้อสอบ สามารถเปลี่ยนคะแนนของผู้สอบจาก C มาเป็น A ได้เลยทีเดียว

1.
วิธีรับมือกับข้อสอบแต่ละประเภท
2.
ข้อควรปฏิบัติในการสอบ


1.
วิธีรับมือกับข้อสอบแต่ละประเภท

ถ้าเราได้เข้าเรียน จดโน้ต ทำการบ้าน อ่านหนังสือทบทวนอย่างสม่ำเสมอแล้ว เราก็สามารถเบาใจไปได้เปลาะหนึ่ง ว่าเรามีความรู้ มีข้อมูลที่จะนำไปใช้ในการทำข้อสอบ แต่มันก็ยังมีอุปสรรคอื่นๆ ที่ทำให้การทำข้อสอบของเราเป็นไปด้วยความยากลำบาก เช่น เวลาที่จำกัด ความซับซ้อนของภาษาที่ผู้ออกข้อสอบใช้เขียนข้อสอบ รวมไปกลลวงอื่นๆ ที่ผู้ออกข้อสอบพยายามทำให้เราไขว้เขว ซึ่งข้อสอบแต่ละประเภทก็มีอุปสรรคไปคนละแบบ ที่เราจะต้องรับมือกับมันให้ถูกวิธี

1.1
ข้อสอบปรนัย
1.2
ข้อสอบถูก ผิด (T – F)
1.3
ข้อสอบอัตนัย

1.1
ข้อสอบปรนัย

คือ ข้อสอบที่มีคำตอบให้เลือก 4 – 5 คำตอบ ซึ่งเราสามารถใช้วิธีการต่อไปนี้ช่วย ในกรณีที่ไม่รู้คำตอบที่ถูกต้องได้

1)
กำจัดคำตอบที่ผิดอย่างเห็นได้ชัดออกไปก่อน ให้เหลือตัวเลือกน้อยลง เพื่อที่คำตอบของเราจะมีคำตอบที่ถูกมากขึ้น เช่น ถ้าเหลือตัวเลือก 2 ตัว โอกาสตอบถูกก็คือ 50 – 50

2)
คำตอบที่มีความหมายคล้ายคลึงกัน มักจะไม่ใช่คำตอบที่ถูก เช่น ถ้าโจทย์ถามว่า กฎทั่วไปในการจำคืออะไร ตัวเลือก ก. ท่องจำครั้งละ 1/2 – 1 ชั่วโมง ค. อ่านข้อมูลนั้นซ้ำๆ นี่แสดงว่าทั้งข้อ ก. และ ค. ไม่น่าใช่คำตอบที่ถูก ทำให้เราสามารถตัดตัวเลือกดังกล่าวทิ้งไปได้

3)
คำตอบที่กินความกว้างมักมีโอกาสถูกมากกว่าคำตอบที่เฉพาะเจาะจง ยกตัวอย่าง ธุรกิจถูกมองว่าเป็นเกมการแข่งขันเพราะอะไร?ก. มีกำหนดเวลา
ข. มีคนมากมายเข้ามามีส่วนร่วม
ค. มีผู้นำ
ง. มีกฎต่างๆ ที่ไม่แน่นอน แล้วแต่ผู้กำหนด
คำตอบ ง. คือคำตอบที่ควรเลือก เพราะครอบคลุมคำตอบอื่นได้
4) คำตอบที่ตรงข้ามกัน ขัดแย้งกัน ไม่คำตอบใดก็คำตอบหนึ่ง น่าจะเป็นตัวเลือกที่ถูก ยกตัวอย่าง
เวลาอ่านหนังสือทบทวนความรู้ก่อนสอบที่ดีที่สุด คือช่วงไหน?ก. ก่อนเข้านอน
ข. ระหว่างพักกลางวัน
ค. ช่วงสุดสัปดาห์
ง. หลังตื่นนอน
ตัวเลือก ก. และ ง. ตรงข้ามกันอย่างเห็นได้ชัด และคำตอบที่ถูกคือ ข้อ ก.

5)
ข้อมูลจากคำถามข้ออื่นๆ สามารถเป็นแนวทาง หรือช่วยให้คำตอบแก่เราได้ ลองเว้นคำถามข้ามข้อที่คิดไม่ออกนี้ไปก่อน แล้วทำข้ออื่นๆ ต่อ ถ้ามันยังช่วยไม่ได้ให้ใช้วิธีในข้อต่อไป

6)
เลือกคำตอบที่ยาวที่สุดหรือสั้นที่สุด โดยพิจารณาจากลักษณะคำตอบที่ถูกในข้ออื่นๆ เพราะส่วนใหญ่แล้ว ผู้ออกข้อสอบแต่ละคนมักมีสไตล์ของตนเอง คือ อาจชอบให้ตัวเลือกที่ยาวที่สุดเป็นคำตอบที่ถูกต้องที่สุด หรือไม่ก็ชอบให้คำตอบที่กะทัดรัดอธิบายแต่น้อยเป็นคำตอบที่ถูก
ข้อควรระวังอย่างหนึ่งในการทำข้อสอบปรนัยคือ การไม่พิจารณาคำตอบที่เหลืออย่างถี่ถ้วน หลังจากที่คิดว่าเจอคำตอบที่เหมาะสมแล้ว ทำให้พลาดคำตอบที่ถูกต้องที่สุดไปอย่างน่าเสียดาย
1.2
ข้อสอบถูก ผิด (T – F) มีวิธีรับมือดังนี้

1)
ระวังถูกลวงด้วยภาษา เพราะคำบางคำสามารถโน้มน้าวเราให้ตอบว่าข้อความนั้นถูกได้ ทั้งๆ ที่มันผิด คำที่ว่านี้ได้แก่ ถ้า... จำเป็นที่.... ไม่จำเป็นที่.....

2)
สังเกตคำบอกใบ้ว่าข้อความนั้นผิด คือถ้าข้อความนั้นมีคำว่า เสมอ ตลอด ไม่เลย ไม่เคย เป็นไปไม่ได้หรือคำในลักษณะคล้ายๆ กัน ก็มีโอกาสเป็นไปได้มากที่มันจะผิด ดังนั้นถ้าเราไม่แน่ใจว่ามันถูกหรือผิด ก็ให้ตอบไปว่าผิด

3)
ข้อความที่มีคำแสดงถึงความลังเล ไม่แน่ชัด เช่นคำว่า บางที ไม่ค่อยจะ กล่าวโดยทั่วๆ ไปแล้ว หรือ โดยปกติแล้ว มักเป็นข้อความที่ผู้ออกข้อสอบกำหนดให้เป็นคำตอบที่ถูก ตรงข้ามกับกลุ่มคำในข้อ 2) ที่แสดงความชัดเจนเต็มที่ แต่มักจะเป็นคำตอบที่ผิด

4)
ระวังคำถามซ้อน คือให้ข้อเท็จจริงหนึ่งข้อ แล้วผู้ออกข้อสอบก็บอกว่าข้อความนั้นผิดหรือถูก ซึ่งในที่นี้เราจะต้องพิจารณาแยกทีละส่วน โดยดูก่อนว่าข้อเท็จจริงนั้นถูกหรือผิด แล้วข้อสรุปเกี่ยวกับข้อเท็จจริงนั้นเป็นอย่างไร จากนั้นก็ใช้หลักตรรกะง่ายๆ หาคำตอบที่เราจะเติมลงไป ดังนี้
ถ้าข้อเท็จจริง ถูก แล้วผู้ออกข้อสอบสรุปว่า ถูก คำตอบคือ ถูก
ถ้าข้อเท็จจริง ถูก แล้วผู้ออกข้อสอบสรุปว่า ผิด คำตอบคือ ผิด
ถ้าข้อเท็จจริง ผิด แล้วผู้ออกข้อสอบสรุปว่า ถูก คำตอบคือ ผิด
ถ้าข้อเท็จจริง ผิด แล้วผู้ออกข้อสอบสรุปว่า ผิด คำตอบคือ ถูก

5)
ข้อความปฏิเสธซ้อนปฏิเสธ ที่ทำให้เราสับสนและปวดหัวได้ง่าย อย่างเช่นไม่จำเป็นเสมอไป ที่จะไม่ให้รางวัลเพื่อลดพฤติกรรมที่ไม่ต้องการถ้าเจอข้อความประเภทนี้ให้เก็บไว้ทำทีหลัง อย่าทุ่มเทเวลาและความคิดให้กับมัน จนทำให้เวลาสำหรับการทำข้ออื่นๆ ที่เราน่าจะทำได้อย่างมั่นใจกว่าหมดไป จากนั้นเมื่อกลับมาทำใหม่ ให้ลองเขียนข้อความนั้นด้วยภาษาที่ง่าย แยกแยะประเด็นต่างๆ ให้ชัดเจน แล้วถ้าเราพบว่าส่วนใด

ส่วนหนึ่งของข้อความไม่ถูกต้อง ก็มีโอกาสเป็นไปได้มากที่ข้อความนั้นจะผิด

1.3
ข้อสอบอัตนัย

ข้อสอบแบบนี้ ผู้เรียนจะต้องคิดหาคำตอบเองทั้งหมด ไม่มีโอกาสเดาสุ่มคำตอบโดยใช้เทคนิคต่างๆ เข้าช่วย แต่กระนั้นคนที่มีความรู้ ความจำพอๆ กันสองคน ก็อาจได้คะแนนต่างกันจากการทำข้อสอบอัตนัยชุดเดียวกัน ทั้งนี้เพราะอีกคนหนึ่งมีวิธีทำข้อสอบที่ดีกว่า จึงได้คะแนนสูงกว่า ซึ่งวิธีที่ว่าก็คือ

1.3.1
เขียนสิ่งที่เราจำได้ลงไป ก่อนอื่นให้เขียนสิ่งที่เรารู้เราเข้าใจในแบบจดโน้ตสั้นๆ หรือรหัสย่อต่างๆ ที่ทำไว้ เช่น M’PLESS หมายถึงทฤษฎีความต้องการของมนุษย์ของ Maslow ที่ประกอบด้วย
- Physic Logical Need
- Love and Belongness Need
- Esteem Need
- Safety and Security Need
- Self – Actualization Need
เป็นต้น การเขียนสิ่งที่เราจำได้ลงไปก่อน ก็เพื่อป้องกันไม่ให้คำถามในข้อสอบทำให้เราสับสน และลดความกลัวว่าเราจะลืมโน่นลืมนี่หลังจากลงมือเขียนข้อสอบแล้ว

1.3.2
แบ่งเวลาทำข้อสอบ โดยอ่านข้อสอบให้หมด แล้วพิจารณาว่า
-
มีเวลาในการทำข้อสอบนานเท่าไร
-
มีคำถามกี่ข้อ
-
คำถามข้อไหนยาก / ข้อไหนง่าย
-
คำถามแต่ละข้อมีคะแนนเท่าไร ถ้าผู้ออกข้อสอบไม่เขียนบอกไว้ ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าทุกข้อมีคะแนนเท่ากัน
เมื่อทราบคำตอบข้างต้นแล้วให้แบ่งเวลาสำหรับทำข้อสอบแต่ละข้ออย่างเหมาะสม ตัวอย่างเช่น ข้อสอบชุดหนึ่งให้เวลาทำ 3 ชั่วโมง คำถาม 4 ข้อ มีคะแนนดังนี้ ข้อแรก 10 คะแนน ข้อสอง 20 คะแนน ข้อสาม 20 คะแนน ข้อสุดท้าย 50 คะแนน รวมทั้งหมด 100 คะแนน เราจะแบ่งเวลาออกเป็น

-
เวลาสำหรับอ่านข้อสอบและทบทวนคำตอบตอนท้าย 30 นาที (เหลือ 150 นาที)
-
เวลาสำหรับตอบคำถามข้อ 1 (10% ของ 150 นาที) 15 นาที
-
เวลาสำหรับตอบคำถามข้อ 2 (20% ของ 150 นาที) 30 นาที
-
เวลาสำหรับตอบคำถามข้อ 3 (20% ของ 150 นาที) 30 นาที
-
เวลาสำหรับตอบคำถามข้อ 4 (50% ของ 150 นาที) 75 นาที
แต่ถ้าทุกข้อคะแนนเท่ากัน ให้แบ่งเวลาเท่าๆ กัน และจงอย่าใช้เวลามากไปกว่าที่กำหนดนี้ในแต่ละข้อ เช่น ถ้า 30 นาทีแล้วยังทำข้อ 2 ไม่เสร็จ ให้เว้นบรรทัดทิ้งไว้ แล้วไปทำข้ออื่น การใช้เวลาเกินในข้อหนึ่งข้อใด จะลดเวลาสำหรับข้ออื่นๆ และส่งผลกระทบต่อคะแนนโดยตรง คือแทนที่จะได้ตอบครบถ้วน ได้คะแนนเต็มจากข้ออื่น เราก็จะตอบได้น้อยลง คะแนนน้อยลง โดยเฉพาะในข้อสุดท้าย นอกจากนี้การที่เราทำไม่เสร็จภายในเวลาที่กำหนด อาจหมายความว่ามันยากกว่าที่คิด ดังนั้นจึงไม่ควรเอาเวลาของข้ออื่นที่ง่ายกว่าไปทุ่มเทให้กับมัน

1.3.3
ทำข้อที่ง่ายและคะแนนมากก่อน จากตัวอย่างข้างต้น ถ้าข้อ 1 (10 คะแนน) กับ

ข้อ 3 (20 คะแนน) ง่ายสำหรับเรา ให้ทำข้อ 3 ก่อน โดยตอบให้ชัดเจน ตรงคำถาม ภายในเวลาที่สั้นที่สุด เพื่อให้มีเวลาเหลือสำหรับข้อที่เราคิดว่ายาก
สิ่งสำคัญในการทำข้อสอบอัตนัยอย่างหนึ่งคือ เราต้องอ่านคำถามให้รู้แน่ว่าอะไรคือคำตอบที่ผู้ออกข้อสอบต้องการ ถึงแม้จะต้องอ่านคำถามนั้นหลายรอบก็ตาม เพราะความเข้าใจในคำถามผิดจะเป็นผลเสียอย่างมาก ซึ่งคำถามที่เรามักจะพบเห็นในข้อสอบอัตนัยก็ได้แก่

-
ให้เปรียบเทียบ ว่าของแต่ละอย่างมีอะไรที่เหมือนกัน และมีอะไรที่ต่างกัน ตัวอย่างเช่นทฤษฎีการวางเงื่อนไขแบบคลาสสิคกับแบบลงมือกระทำแตกต่างหรือเหมือนกันอย่างไรการเขียนคำตอบที่ดีควรแยกบรรยายความเหมือนไว้ส่วนหนึ่ง และความต่างไว้อีกส่วนหนึ่งอย่างชัดเจน อย่าเขียนกระโดดไปกระโดดมา เดี๋ยวเหมือนเดี๋ยวต่าง เพราะนอกจากเราจะงงเองแล้ว ผู้ตรวจก็จะงงตามไปด้วยอย่างแน่นอน
คำถามลักษณะนี้ต้องการข้อเท็จจริง ไม่ใช่ความคิดเห็นส่วนตัวของผู้เรียน

-
ให้อธิบายความหมาย บอกว่ามันคืออะไร เราต้องให้คำอธิบายอย่างเพียงพอที่จะบ่งบอกถึงคำนั้นอย่างชัดเจน ตัวอย่างเช่นความคิดแทรกคืออะไรถ้าเราตอบแต่เพียงว่า คือ ความคิดที่เกิดขึ้นในสมองเมื่อเราอ่านงานเขียนใดๆ โดยที่มันไม่ได้ปรากฏอยู่ในงานเขียนที่เราอ่านคำตอบนี้ไม่ชัดเจนแน่นอน เพราะมันสามารถอธิบายถึงความคิดเสริมได้ ซึ่งคำตอบที่ดีควรเป็น ความคิดแทรกคือความคิดที่เกิดขึ้นในสมอง ซึ่งไม่มีอยู่ในงานเขียน ในระหว่างที่เราวิเคราะห์และวินิจฉัยสาระของหนังสือที่อ่าน

-
ให้บรรยายเรื่อง ตัวอย่างเช่น สาเหตุสำคัญ 5 ประการที่ทำให้วัฒนธรรมของมนุษย์แตกต่างกันมีอะไรบ้าง จงบรรยายมาคำตอบที่เราให้ควรประกอบไปด้วยข้อมูลสำคัญเกี่ยวกับสาเหตุแต่ละข้อ และอธิบายว่าทำไม่ / อย่างไรมันถึงทำให้วัฒนธรรมของมนุษย์แตกต่างกัน
ภาษาที่เราใช้เขียนบรรยายควรให้เรียบง่าย ตรงไปตรงมาชนิดที่คนที่ไม่เคยรู้เรื่องนี้มาก่อน เมื่ออ่านจบแล้วก็ยังเข้าใจได้โดยง่าย

-
ให้วิจารณ์ เมื่อเจอคำถามลักษณะนี้ เราต้องเอาทัศนะมาตรฐานของคนทั่วไปเป็นหลัก ตัวอย่างเช่นอินเตอร์เน็ทมีข้อดีและข้อเสียอย่างไรยกเว้นในกรณีที่ผู้ออกข้อสอบระบุชัดเจนว่าต้องการความคิดเห็นส่วนตัวของผู้เรียน เช่น ในความคิดเห็นของนักศึกษา อินเตอร์เน็ทมีข้อดีและข้อเสียอย่างไรแบบนี้เราถึงแสดงความคิดเห็นของเราได้

-
ให้ลำดับความ ตัวอย่างเช่นจงเล่าถึงความเป็นมาของสงครามโลกครั้งที่ 1 โดยสังเขปเราต้องตอบคำถามประเภทนี้โดยเรียงลำดับของเหตุการณ์ โดยให้เขียนเหตุการณ์ต่างๆ แบบคร่าวๆ ลงบนด้านหลังกระดาษคำตอบก่อน จากนั้นจึงนำเหตุการณ์มาเขียนขยายความตามลำดับ
นอกจากความเป็นมาแล้ว การให้อธิบายขั้นตอนการทำงานของกระบวนการต่างๆ ก็จัดอยู่ในคำถามประเภทนี้เหมือนกัน

-
ให้ยกตัวอย่าง เช่นจงยกตัวอย่างแสดงให้เห็นว่าสื่อมวลชนมีอิทธิพลต่อพฤติกรรมของคนไทยการตอบคำถามเช่นนี้เราจะต้องอาศัยประสบการณ์ และข้อเท็จจริงเกี่ยวกับสิ่งที่เราจะต้องยกตัวอย่างประกอบ
ถ้าเราอ่านคำถามแล้วรู้สึกว่ามันยากเหมือนกันหมด ทำไม่ได้เลยสักข้อ ให้เริ่มต้นที่คำถามที่เราคิดว่าสามารถเขียนอะไรบางอย่างเกี่ยวกับคำตอบได้ เช่นทำไมเราจึงไม่สามารถแยกการใช้ภาษากับการคิดออกจากกันได้เราอาจเริ่มโดยเขียนอธิบาย

ความหมายของการคิดและการใช้ภาษาก่อน แล้วเราจะพบว่าความจำต่างๆ ที่วิ่งหนีหายไปด้วยความตื่นกลัวข้อสอบนั้น จะค่อยๆ ทยอยกลับมา หลังจากได้ลงมือเขียนอะไรบางอย่างเกี่ยวกับคำตอบลงไป

1.3.4
เพิ่มคะแนนด้วยกลยุทธ์ต่างๆ โดย

-
อำนวยความสะดวกให้ผู้ตรวจ โดยในการเขียนแต่ละย่อหน้าให้แสดงข้อเท็จจริงหรือความคิดเห็นเพียงหนึ่งอย่าง เพื่อให้ผู้ตรวจหาข้อเท็จจริงหรือคำตอบที่ต้องการได้ง่ายขึ้น

-
เขียนให้เรียบร้อย สะอาดตาที่สุดเท่าที่จะทำได้

-
ใช้ปากกาสีดำหรือน้ำเงินเขียนข้อความ อย่าใช้ปากกาสีสดใสบาดตา เช่น แดง เขียว เราควรใช้สีสดๆ นี้ขีดเส้นหรือโยงลูกศรเท่านั้น

-
เว้นบรรทัดระหว่างคำตอบแต่ละข้อไว้มากๆ สำหรับเขียนเพิ่มทีหลัง จะได้ไม่ต้องเขียนต่อหน้าอื่น (แล้วบอกผู้ตรวจว่า กรุณาอ่านคำตอบข้อนี้ต่อที่หน้า 9) ซึ่งทำให้ผู้ตรวจเสียเวลาพลิกกระดาษคำตอบไปมา

-
ถ้ามีคำถาม 5 ข้อ แล้วให้เลือกทำ 4 ข้อ เมื่อทำทั้ง 4 ข้อเสร็จแล้ว ไม่ต้องขยันไปทำแถมให้อีกข้อ เอาเวลามาตรวจคำตอบทั้ง 4 ข้อ นั้นให้ถูกต้องครบถ้วนที่สุดจะดีกว่า

-
ใช้แผนภาพ แผนภูมิ หรือตารางประกอบ ถ้าลักษณะคำถามเปิดโอกาสให้ทำเช่นนั้นได้ เพราะสิ่งเหล่านี้จะนำเสนอความคิดของเราและทำให้ผู้ตรวจเข้าใจได้ง่ายขึ้น

-
ถ้าทำข้อสุดท้ายไม่ทันจริงๆ ให้เขียนโครงร่างของคำตอบแบบคร่าวๆ ไม่ต้องอธิบายละเอียด เช่น การเตรียมตัวพูดต่อหน้าชุมชนจะต้องเตรียมด้านใดบ้าง จงอธิบายให้เข้าใจเราอาจตอบเฉพาะหัวข้อของคำตอบว่าวิธีเตรียมตัวในการพูดนั้นมีดังนี้
1.
กำหนดจุดมุ่งหมายของการพูด
2.
วิเคราะห์ผู้ฟัง
3.
กำหนดขอบเขตของเรื่องที่จะพูด
4.
รวบรวบเนื้อหาที่จะพูด
5.
ทำเค้าโครงลำดับเรื่องที่จะพูด
6.
เตรียมวิธีใช้ภาษา
7.
ซักซ้อมการพูดและอาจอธิบายเพิ่มเติมในหัวข้อต่างๆ เท่าที่มีเวลาเหลือ
 
จากหนังสือคู่มือ คนเก่งเรียนโดย ยุดา รักไทย
สำนักพิมพ์เอ็กซเปอร์เน็ท

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น