ภาพแต่งละฉาก

วันศุกร์ที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2554

ครูแม่พิมพ์ของชาติ

            คุณธรรมครูไทย

            คำว่า "ครู" หมายถึงผู้สั่งสอน อบรม บ่มนิสัย และถ่ายทอดความรู้ให้แก่ศิษย์ ครู คือบุคคลที่ควรเคารพ เพราะคำว่าครู แปลว่า หนัก มีบุญคุณ มีคุณค่า มีความหมาย ในศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหง หลักที่ 1 มีข้อความที่แสดงความหมายของคำว่าครู ในทางเป็นผู้สั่งสอน ให้รู้บาปบุญคุณโทษ และให้ทำความดี เพราะเริ่มมีคำว่า "ปู่ครูนิสัยมุติ" คำนี้ ปรากฏขึ้นในหลักศิลาจารึก หลักที่ 1 ก็มีคำว่าครู แล้วต่อมาก็มีคำว่า "ครูตุ๊เจ้า" "ตุ๊ครู" "ปู่ครู" และ "ครูบา" คำว่าครูมีความหมายลึกซึ้งมาก ในหลักศิลาจารึก หรือในเตภูมิกถา ซึ่งเป็นเอกสารทางประวัติศาสตร์โบราณคดีของไทย ตรงกับคำอธิบายของพระธรรมโกศาจารย์ (ท่านพุทธทาส) ที่กล่าวว่า คำว่าครู แต่เดิมหมายถึงผู้นำทางวิญญาณ ต่อเมื่อถูกยืมมาใช้ในภาษาไทย ครูจึงเป็นความหมายเป็นสอนหนังสือ สอนวิชาชีพ โดยเนื้อแท้ดั้งเดิม เป็นผู้นำทางวิญญาณ ครูจึงมีความหมายสำคัญ อยู่ที่ว่ายกฐานะทางวิญญาณ ให้สูงขึ้น นั่นคือประกอบอยู่ด้วยธรรมะ ครูคือผู้ยกวิญญาณโลก ครูแท้ๆ ในสมัยโบราณ ทำหน้าที่ยกวิญญาณของมนุษย์ด้วยการเสียสละ เพื่อทำตนให้เป็นครูอุดมคติ ด้วยการมีธรรมะ ประยุกต์ธรรมให้เข้ากับความเป็นครู
            ครูคือใคร ครูเป็นภาษาบาลีและสันสกฤตและตามตัวว่าหนัก คือ อยู่บนศีรษะของคนทุกคนในโลก เพราะครูเป็นมัคคุเทศก์ทางวิญญาณ หรือเป็นผู้นำทางวิญญาณ หมายถึงผู้ที่ยกสถานะทางวิญญาณของคนให้สูงขึ้น เดิมวิญญาณของมนุษย์ถูกปิดอยู่ ครูเป็นผู้เปิดประตูวิญญาณให้เกิดแสงสว่าง คือ ให้คนสามารถเอาชนะกิเลส หรือ รอดพ้นจากความทุกข์ และจุดมุ่งหมายขั้นสุดท้ายของครู คือ มุ่งที่จะทำให้โลกมีสันติภาพ
            การศึกษาของไทยเริ่มขึ้นในวัด ครูก็คือพระสงฆ์ผู้มีความรู้ ทั้งธรรมของพุทธศาสนา อักขรวิธี และศิลปวิทยาการอื่นๆ นักเรียนก็คือลูกหลานของประชาชนทุกระดับชั้น มาสมัครเป็นลูกศิษย์อยู่ในวัด ก็ย่อมศึกษาเล่าเรียนไปพร้อมทั้งปรนนิบัติรับใช้พระสงฆ์ผู้เป็นครูอาจารย์ ไปด้วย ครูคือภิกษุสงฆ์ สอนด้วยความรัก ความเมตตา ลูกศิษย์ก็ศึกษาเล่าเรียนด้วยความเคารพในครูบาอาจารย์ของตนอย่างมาก
            ครูบาอาจารย์ผู้ที่เปี่ยมล้นด้วยคุณธรรมแบบนี้ ไม่เคยถือโทษ โกรธเคือง อโหสิแม้ผู้ที่มาทำร้ายตน ครูจึงเป็นผู้มีกัลยาณมิตรธรรม หรือคุรุฐานิยมธรรม ผู้เป็นครูดี จะต้องยึดมั่นในคุณสมบัติของครู หรือของมิตรที่ดี มิตรแท้ ซึ่งจะเป็นแนวทางในการประพฤติปฏิบัคิ อันเป็นเหตุให้เกิดความสุข ความเจริญ ทั้งแก่ศิษย์และแก่ตัวครูเอง 7 ประการ ด้วยกัน
            1. ปิโย  เป็นที่รัก เป็นที่พอใจ เพราะครูทำให้ตน ให้เป็นที่รักของศิษย์
            2. ครุ  เป็นที่เคารพ เพราะมีความหนักแน่น น่าเคารพยำเกรง
            3. ภาวนีโย  เป็นที่สรรเสริญ เพราะฝึกฝนอบรมตน ให้เจริญด้วยความรู้และความเชี่ยวชาญ
            4. วัตตา  เป็นผู้ว่ากล่าว มีความเพียรพร่ำสอน พร่ำเตือนศิษย์
            5. วจนักขโม  เป็นผู้อดทนต่อถ้อยคำ แม้จะถูกกระทบกระทั่ง เสียดสี ลองภูมิ
            6. คัมภรังกถังกัตตา  เป็นผู้กล่าวถ้อยคำอันลึกซึ้ง สอนให้เข้าใจได้แจ่มแจ้ง และลุ่มลึก
            7. โนจัฏฐาเน นิโยชเย  พึงนำไปในฐานะที่ดี ในตำแหน่งที่ดี ไม่ชักชวนในฐานะอันไม่ควร ไม่ชักนำศิษย์ไปในทางเสื่อมเสีย
            ครูอาจารย์ที่มีคุรุฐานิยมธรรมะของครู 7 ประการดังกล่าวแล้ว ย่อมเป็นครูผู้ประเสริฐ และเป็นที่เลื่อมใสศรัทธาของศิษย์ เนื่องจากสามารถอบรม ชักนำศิษย์ไปในทางดีด้วย ความรู้อันกระจ่างแจ้งของครู และด้วยคุณธรรมอันล้ำเลิศของครู จึงน่าจะสรุปลง ณ ที่นี่ว่า "ครูที่ดีและมีความสามารถ ต้องเป็นผู้มีความรู้คู่คุณธรรม"
กฤษณา พันธุ์วานิช
กระทรวงวัฒนธรรม
( ที่มา มติชนรายวัน ประจำวันจันทร์ที่ 7 กุมภาพันธ์ 2548)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น